วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

2.6.สภาพขั้ว

สภาพขั้วของโมเลกุลโคเวเลนต์     เรารู้แล้วว่าพันธะโคเวเลนต์เกิดจากการที่อะตอม 2 อะตอมมีการใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน (อิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะ) โดยอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะนั้นจะเสมือนอยู่ระหว่างอะตอมทั้งสอง ดังนั้นถ้าหากอะตอมทั้ง 2 เป็นอะตอมของธาตุชนิดเดียวกัน หรือมีความสามารถในการดึงดูดอิเล็กตรอนที่ใกล้เคียงกันแล้ว อิเล็กตรอนคุ่ร่วมพันธะก็จะอยู่บริเวณกึ่งกลางของอะตอมทั้งสอง ทำให้อะตอมทั้งสองมีขั้วไฟฟ้าสมดุลกัน พันธะโคเวเลนต์นั้นจึงไม่มีขั้วไฟฟ้า เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า พันธะโคเวเลนต์ที่ไม่มีขั้ว
     
แต่หากอะตอมของธาตุซึ่งเข้ามาร่วมสร้างพันธะโคเวเลนต์เป็นอะตอมคนละชนิดกัน โดยที่อะตอมของธาตุใดธาตุหนึ่งมีความสามารถในการดึงดูดอิเล็กตรอนดีกว่า จะมีผลทำให้อิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะไม่อยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างอะตอมทั้งสอง แต่จะเบี่ยงเบนไปทางด้านอะตอมที่สามารถดึงดูดอิเล็กตรอนได้ดีกว่า ทำให้อะตอมทางด้านนี้มีขั้วไฟฟ้าเป็นลบ (เนื่องจากอิเล็กตรอนซึ่งมีประจุลยเอนเอียงมาอยู่ทางด้านมากกว่า) ส่วนด้านที่อยู่ห่างจากอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะจะมีขั้วไฟฟ้าบวก เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า พันธะโคเวเลนต์ที่มีขั้ว
     
โมเลกุลโคเวเลนต์เป็นโมเลกุลที่เกิดจากอะตอมของธาตุตั้งแต่สองอะตอมขึ้นไปมาสร้างพันธะโคเวเลนต์กัน ดังนั้น การเกิดเป็นพันธะโคเวเลนต์แบบที่มีขั้วหรือแบบที่ไม่มีขั้วจะมีผลต่อสภาพขั้วของโมเลกุลโคเวเลนต์ที่เกิดจากอะตอมเพียง 2 อะตอมจะสามารถทำได้ง่าย โดยดูจากความสามารถในการดึงดูดอิเล็กตรอนของอะตอมแต่ละอะตอมเท่านั้น แต่สำหรับโมเลกุลที่ประกอบด้วยอะตอมของธาตุมากกว่า 2 อะตอมขึ้นไป เช่น CH4, NH3 เป็นต้น เราจะต้องมีการพิจารณาถึงลักษณะและรูปร่างของโมเลกุลประกอบด้วย 
     ดังตัวอย่างเช่น
     CH4  หรือโมเลกุลของมีเทน (Methane) ซึ่งเกิดจากพันธะเดี่ยวระหว่างคาร์บอนกับไฮโดรเจน 4 พันธะโดยอะตอมคาร์บอนจะดึงดูดอิเล็กตรอนได้ดีกว่าไฮโดรเจนจึงเกิดเป็นพันธะโคเวเลนต์ที่มีขั้ว แต่เนื่องจากโมเลกุล CH4มีไฮโดรเจนอยู่ล้อมรอบคาร์บอน จึงทำให้ขั้วลบทั้งหมดไปรวมอยู่ที่คาร์บอนซึ่งอยู่ตรงกลาง ส่วนไฮโดรเจนที่อยู่ล้อมรอบจะมีขั้วไฟฟ้าไม่ต่างกัน โมเลกุลนี้จึงเป็นโมเลกุลที่ไม่มีขั้ว 
     NH3 หรือโมเลกุลของแอมโมเนีย (Ammonia) จะเป็นโมเลกุลที่มีขั้ว เนื่องจากอะตอมไนโตรเจนจะดึงดูดอิเล็กตรอนจากไฮโดรเจนรอบ ๆ เข้ามา ทำให้ด้านอะตอมไนโตรเจนมีขั้วไฟฟ้าลบ ส่วนด้านอะตอมไฮโดรเจนจะมีขั้วไฟฟ้าบวก


ที่มาและได้รับอนุญาตจาก : 
พงศธร  นันทธเนศ  และสุนทร  ภูรีปรีชาเลิศ. สารและสมบัติของสาร ม.4 - ม.6. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Chemistry Blogger Template by Ipietoon Blogger Template